สัญลักษณ์จังหวัดปทุมธานี
ตราสัญลักษณ์จังหวัดปทุมธานี รูปวงกลมมีสัญลักษณ์ดอกบัวหลวงสีชมพูอยู่ตรงกลาง และรวงข้าวสีทองอยู่ 2 ข้าง
ธงประจำจังหวัดปทุมธานี
ความหมายของธงประจำจังหวัด สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ ความสำคัญของธงประจำจังหวัดปทุมธานี เป็นการเชิดชูเกียรติของจังหวัด บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของจังหวัด เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจชาวจังหวัดปทุมธานี ให้มีความรักท้องถิ่นและมีความร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ ความเจริญ และมีความเอื้ออารีต่อกัน
ชื่อดอกไม้ ดอกบัวหลวง
ต้นไม้ประจำจังหวัด
เพลงประจำจังหวัด เนื้อร้อง : นายสุรพล ไชยเสนา นายคำภีร์ เกาะทอง นายทองคำ พันนัทธี นายบำรุง สมจิตต์ ทำนอง : นายวิรัตน์ ครองแถว
วิสัยทัศน์จังหวัดปทุมธานี ปทุมธานี เป็นจังหวัดชั้นนำ ในการส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการผลิต การค้า และบริการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีที่อยู่อาศัยและสังคมที่น่าอยู่
ประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัดปทุมธานี
ประวัติความเป็นมาของจังหวัดปทุมธานี เดิมจังหวัดปทุมธานีเป็นถิ่นฐานบ้านเมืองแล้วไม่น้อยกว่า 300 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เมื่อพุทธศักราช 2202 มังนันทมิตรได้กวาดต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพหนีภัยจากศึกพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนายรายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้น ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก จากนั้นมาชุมชนสามโคกได้พัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ชาวมอญได้อพยพหนีพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อีกเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรง พระกรุณา โปรดเกล้าฯ อนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านสามโคก และครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการอพยพชาวมอญครั้งใหญ่จากเมืองเมาะตะมะ เข้าสู่ประเทศไทยเรียกว่า "มอญใหญ่ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก อีกเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจากชุมชนขนาดเล็ก "บ้านสามโคก จึงกลายเป็น "เมืองสามโคก ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทำนุบำรุงชาวมอญเมืองสามโคกมิได้ขาด ครั้งเมื่อเดือน 11 พุทธศักราช 2358 ได้เสด็จประพาสออกเยี่ยมพสกนิกรที่เมืองสามโคก และประทับที่พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายเยื้องเมืองสามโคก ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่ชาวมอญเป็นล้นพ้น จึงได้พากันหลั่งไหล นำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะอยู่เป็นเมืองนิจ ยังความซาบซึ้งในพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง จึงบันดาลพระราชหฤทัยให้พระราชทานนามเมืองสามโคกเสียใหม่ว่า "เมืองประทุมธานี ซึ่งวันนั้นตรงกับวันที่ 23 สิงหาคม พุทธศักราช 2358 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวชื่อเมืองปทุมธานี จึงได้กำเนิดนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อำเภอเมือง ศาลหลักเมือง เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด เป็นศาลาแบบจตุรมุขยอดปรางค์ ประดิษฐานเสาหลักเมืองซึ่งมีลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวงทำจากไม้ชัยพฤกษ์ และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูกและพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเก่า) ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นเรือนปั้นหยา ด้านหน้าก่อปูนเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีลวดลายตกแต่งด้านหน้า ที่สวยงาม ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ
วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เดินทางโดยข้ามสะพานปทุมธานีไปฝั่งตะวันออกจะมีทางแยกซ้ายไปกลับรถใต้สะพานเพื่อไปยังวัดซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน วัดโบสถ์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๔ โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ชื่อวัดโบสถ์นำมาจากชื่อหมู่บ้านที่ชาวมอญอพยพมาจากเมืองมอญ เช่นเดียวกับวัดอีกหลายวัดในปทุมธานี เช่น วัดหงษ์ วัดบางตะไนย์ ประชาชนมักมาที่วัดเพื่อสักการะหลวงพ่อสามพี่น้องในพระอุโบสถ และรูปหล่อหลวงปู่เทียน (พระครูบวรธรรมกิจ) พระเถระผู้ทรงคุณวิทยา ส่งเสริมด้านการศึกษาให้ชาวปทุม วัดนี้ยังคงมีวิหารเก่าเหลืออยู่ ๑ หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่จากรามัญ คือ พระแสงอาญาสิทธิ์ และยังเก็บรักษาสิ่งสำคัญคือ ช้างสี่เศียรและบุษบกสัมฤทธิ์สำหรับประดับเสาหงส์ และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองปทุมธานี
วัดหงษ์ปทุมาวาส ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลบางปรอก ใกล้กับตลาดสดเทศบาล เป็นวัดที่สร้างโดยชาวมอญที่อพยพหนีพม่ามาไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีสัญลักษณ์ของวัดมอญคือ เสาหงส์ ซึ่งบนยอดเสาเป็นตัวหงส์หมายถึง เมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญ ปูชนียวัตถุสำคัญของวัดคือ พระพุทธชินราชจำลองปางมารวิชัย เจดีย์มอญจำลองแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองในเมืองหงสาวดี รูปหล่อหลวงปู่เฒ่าที่ชาวบ้านนับถือ และมีศาลาการเปรียญประดับด้วยไม้แกะสลักสวยงาม วัดแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด มีพันธุ์ปลาต่างๆ มากมายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ว่ายมาชุมนุมกันอยู่เนืองแน่นเพื่อรอรับอาหารจากผู้มาทำบุญไหว้พระที่วัด
วัดชินวราราม ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของตัวเมือง ตามทางไปสะพานนนทบุรี (สะพานนวลฉวี) ก่อนถึงสะพาน ๑ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปวัดอีก ๑ กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ และเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร เดิมชื่อ "วัดมะขามใต้ ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดกที่งดงาม วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๗
อำเภอสามโคก วัดสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ ๓ กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าวัด เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งยังปรากฏเจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่าแก่ ควรค่าแก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พระพุทธรูปสำคัญของวัดคือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อเพชร) นอกจากนี้ยังมีโกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย ซึ่งเป็นพระมอญธุดงค์มาจำพรรษาที่วัดสิงห์ บนกุฏิของวัดมีพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาของเก่าได้แก่ ตุ่มสามโคก แท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสามโคก ใบลานอักษรมอญ ตู้พระธรรม และพระพุทธรูป การเข้าชมต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อน ด้านหน้าวัดสิงห์มีการขุดค้นพบโบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ซึ่งถือเป็นหลักฐานของการตั้งชุมชนมอญในสมัยแรกในบริเวณนี้นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตุ่มสามโคก เป็นภาชนะบรรจุที่ใหญ่ที่สุดซึ่งผลิตจากเตาแหล่งนี้ ต่อมาภายหลังชาวรามัญเมืองสามโคกได้เลิกร้างการผลิตไปโดยย้ายการผลิตไปที่เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี ซึ่งได้ขยายการผลิตตุ่มสามโคกขึ้นเป็นจำนวนมากและได้นำไปขายขึ้นล่องตามลำน้ำไปทั่วทุกภาค ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยโอ่งลายมังกรจากราชบุรีลักษณะตุ่มสามโคกมีเนื้อดินสีแดงส้มเหมือนสีอิฐหรือสีมันปู เนื้อภาชนะค่อนข้างหนา รูปทรงปากโอ่งแคบ คอโอ่งจะติดกับไหล่ มีลายยืดเป็นเส้นคู่ตรงไหล่ ตรงกลางตุ่มป่องกลม รูปทรงเตี้ยป้อม ปากและก้นโอ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ปัจจุบันหาดูตุ่มสามโคกของเก่าได้ที่ วัดสิงห์ วัดสามโคก และตุ่มสามโคกขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครที่กรุงเทพฯ
วัดจันทน์กะพ้อ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเตย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๖ กิโลเมตร สร้างโดยชาวมอญ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ชื่อว่า "วัดโกว๊ะ ซึ่งแปลว่า "จันทน์กะพ้อ ซึ่งชาวมอญ ถือว่าเป็นไม้มงคลเหมือนต้นราชพฤกษ์ ภายในวัดมีหอวัฒนธรรม ซึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุมอญ และยังมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่ประกอบพิธีสำคัญของชาวปทุมธานีเช่น พิธี "ออกฮ้อยปะจุ๊ แข่งธงตะขาบ งานตักบาตรพระร้อย เป็นต้น
วัดเจดีย์ทอง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองควาย การเดินทางใช้เส้นทางสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ ๘ กิโลเมตรและแยกขวาเข้าวัดอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร ในวัดนี้มีเจดีย์ทรงรามัญ สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์โดยชาวมอญ เป็นสถาปัตยกรรมมอญที่เลียนแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองของพม่า และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นด้วยหยกขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยรามัญ
วัดบางนา ตั้งอยู่ตำบลบางโพธิเหนือ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ โดยมีครอบครัวคนไทยอพยพหนีภัยสงครามมาจากกรุงศรีอยุธยา และได้จัดสร้างวัดนี้ขึ้นซึ่งแต่เดิมอยู่ในคลอง ไม่สะดวกต่อการคมนาคม จึงได้ย้ายมาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในบริเวณวัดมีพระป่าเลไลย์ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ๒ องค์ เสาหงส์ และกุฏิตึกโบราณ นอกจากนี้ยังขุดค้นพบกระเบื้องดินเผาตัวผู้ ตัวเมียสำหรับมุงหลังคาโบสถ์อายุกว่า ๑๐๐ ปี ประชาชนมักแวะมาสักการะหลวงปู่เส็งซึ่งมรณภาพแล้วแต่สรีระไม่เน่าไม่เปื่อยและยกหินศักดิ์สิทธิ์เสี่ยงทาย
วัดไผ่ล้อม ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านงิ้ว บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านเหนือของจังหวัดปทุมธานี ใช้เส้นทาง ๓๓๐๙ (ถนนสายเชียงรากน้อย ซึ่งเป็นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นแหล่งดูนกปากห่างที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอันมาก ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งรวมพื้นที่ของวัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม ในเนื้อที่ ๗๔ ไร่ บริเวณวัดมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นที่อาศัยของนกปากห่างมากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว นกปากห่างเป็นนกในวงศ์นกกระสา แต่มีลักษณะเฉพาะที่จะงอยปากซึ่งปิดไม่สนิท คือ มีร่องโค้งตรงกลางปาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อนกในการจับหอยโข่งกินเป็นอาหาร นกปากห่างมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม อพยพมาหาพื้นที่เหมาะสมในไทยเพื่อผสมพันธุ์ สร้างรังและวางไข่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์นี้จะเห็นถึงสายสัมพันธ์ของครอบครัวนกในการสร้างรังด้วยกิ่งไม้ ผลัดกันหาอาหารและดูแลลูกน้อย มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและหอดูนก รายละเอียดติดต่อที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่า วัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม โทร. ๐ ๒๙๗๙ ๘๕๙๖
วัดศาลาแดงเหนือ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลเชียงรากน้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก มีศาลาการเปรียญซึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ เดิมเป็นโรงโขนหลวงที่กรุงเทพฯ บนศาลามีตู้พระพุทธรูปดัดแปลงจากธรรมาสน์ลายจำหลักไม้ และยังมีการสวดมนต์ภาษามอญทุกวันเวลา ๑๖.๐๐ น. บนกุฏิมีเครื่องกรองน้ำสมัยโบราณ ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งหาชมได้ยาก ชุมชนรอบวัดศาลาแดงเป็นชุมชนเล็กๆ ริมน้ำเจ้าพระยาที่มีการรักษาความสะอาดของหมู่บ้านได้อย่างดีเยี่ยมจนเป็นหมู่บ้านที่ชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาดีเด่นของกระทรวงสาธารณสุขปีพ.ศ. ๒๕๔๑
วัดสองพี่น้อง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านงิ้ว ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือวัดไผ่ล้อม สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๐ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๒ องค์ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำ คือ หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปศิลา ศิลปะอู่ทองปางมารวิชัย และหลวงพ่อพลอย เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองจำหลักด้วยศิลา แต่ถูกขโมยไป ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นที่เคารพนับถือของชาวเรือและประชาชนทั่วไป
อำเภอลำลูกกา อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ตำบลคูคต บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตบรรจบกับถนนพหลโยธิน สามารถใช้บริการรถประจำทางสาย ๒๙, ๓๔, ๓๙, ๕๙, ๙๕, ปอ. ๕๐๓, ปอ. ๕๐๔, ปอ. ๕๑๐, ปอ. ๕๑๓, ปอ. ๕๒๔, ปอ. ๕๒๙ และ ปอ. ๕๓๙ มีเนื้อที่ประมาณ ๓๘ ไร่ ในความดูแลของกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นทั้งอนุสรณ์สถานเทิดทูนวีรกรรมบรรพบุรุษไทยที่ได้ใช้สติปัญญา ความสามารถตลอดจนเลือดเนื้อและชีวิตเข้าปกป้องผืนพสุธามาตุภูมิแห่งนี้ไว้ และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยตลอดจนเหตุการณ์รบครั้งสำคัญของไทย และสงครามที่กองทัพไทยได้ไปปฏิบัติการรบในต่างประเทศ อาทิ สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี โดยใช้หุ่นจำลองเหตุการณ์และภาพถ่าย มีห้องจัดแสดงวิวัฒนาการเครื่องแบบเครื่องหมายยศของทหารทุกยุคสมัย ดินจากสมรภูมิรบที่สำคัญ ด้านหน้าอาคารประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ แกะสลักด้วยหินอ่อนขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง และที่น่าสนใจมากคืออาคารภาพปริทัศน์แสดงภาพจิตรกรรมอันงดงามบนผนังโค้งวงกลม เรื่องราวจากสมัยสุโขทัยถึงปัจจุบันประกอบเสียงคำบรรยาย รวมความยาวโดยรอบถึง ๙๐ เมตร ด้านนอกจัดแสดงวัตถุยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ปลดประจำการ เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.และ ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หมู่คณะต้องการผู้บรรยายควรติดต่อล่วงหน้า โทร. ๐ ๒๕๓๒ ๑๐๒๐-๑
วัดพืชอุดม ตั้งอยู่ที่ตำบลลำไทร จากแยกอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ไปตามทางหลวงสาย ๓๓๑๒ ประมาณ ๓๑ กิโลเมตร มีรถสองแถวบริการจากมีนบุรี หนองจอก และจากสะพานใหม่มายังวัดตลอดวัน วัดพืชอุดมตั้งอยู่ริมคลองหกวา บริเวณวัดเต็มไปด้วยรูปปั้นแสดงความเชื่อเรื่องบาปบุญในพระพุทธศาสนา ส่วนในพระอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อโสธรจำลอง มีบันไดเล็กๆ ขึ้นไปยังสวรรค์ภูมิทั้ง ๙ ชั้นที่ได้จำลองไว้ และมีทางลงไปนรกภูมิใต้อุโบสถ
อำเภอลาดหลุมแก้ว วัดบัวขวัญ เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอลาดหลุมแก้ว การเดินทางใช้เส้นทางสาย ๓๔๑ (ปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว) เลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตรที่ ๒๑-๒๒ ไปอีก ๕ กิโลเมตร ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปทองสำริด ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา ซึ่งสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับพระพุทธรูปตามระเบียงวัดเบญจมบพิตร นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งจำลองมาจากวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีและพลับพลาที่ประทับแรกนาขวัญ สมัยรัชกาลที่ ๖ เดิมเรียกว่า "ศาลาแดง" ตั้งอยู่ที่วังพญาไท ในกรุงเทพฯ
วัดเจดีย์หอย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลบ่อเงิน การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๔๑ (ปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๑-๒๒ แล้วแยกเข้าวัดไปอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร บริเวณวัดมีการขุดพบซากหอยนางรมยักษ์อายุนับล้านปีจำนวนมาก หลวงพ่อทองกลึงจึงนำซากหอยโบราณมาก่อเป็นเจดีย์ขึ้นที่ด้านหน้าทางเข้าและในวัด นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์รวบรวมพระพุทธรูป และศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้เก่า ๆ จำนวนมาก เช่น ตุ่มสามโคก ถ้วยชามดินเผา ไม้แกะสลัก เครื่องคิดเลข เป็นต้น ในบริเวณวัดมีสวนสมุนไพร บ่อเลี้ยงเต่าและบ่อปลาสำหรับให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับการให้อาหารสัตว์เหล่านี้
อำเภอธัญบุรี สวนสนุกดรีมเวิลด์
ตั้งอยู่ที่ตำบลบึงยี่โถ กิโลเมตรที่ ๗ เส้นทางสายรังสิต-นครนายก บริเวณคลองสาม ดรีมเวิลด์เป็นสวนสนุกและสถานที่พักผ่อนที่รวบรวมความบันเทิงนานาชนิดเข้าไว้ด้วยกันในเนื้อที่กว่า ๑๖๐ ไร่ ประกอบด้วยดินแดนต่างๆ ๔ ดินแดน ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีบรรยากาศแห่งความสุข สนุกสนานที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ดรีมเวิลด์ พลาซ่า ดินแดนที่เต็มไปด้วยความงดงามของสถาปัตยกรรมอันวิจิตร พิสดารตลอดสองข้างทาง ดรีมการ์เด้น เป็นอุทยานสวนสวยที่ถูกจัดไว้อย่างสวยงามท่ามกลางความเย็นสบายจากทะเลสาบขนาดใหญ่ และเคเบิ้ลคาร์ ที่จะพาชมความงามของทัศนียภาพในมุมสูง แฟนตาซี แลนด์ เป็นดินแดนแห่งเทพนิยาย ประกอบด้วย ปราสาทเจ้าหญิงนิทรา บ้านขนมปัง และบ้านยักษ์ แอดแวนเจอร์ แลนด์ ดินแดนแห่งการผจญภัย และท้าทาย ประกอบด้วย รถไฟตะลุยจักรวาล ไวกิ้งส์ เมืองหิมะ
วัดมูลจินดาราม ตั้งอยู่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณคลองห้า ห่างจากตลาดรังสิต ๑๓ กิโลเมตร ตามเส้นทางรังสิต-นครนายก บริเวณคลองหน้าวัดมีปลาสวายจำนวนมาก มีขนาดใหญ่ตัวละ ๓- ๕ กิโลกรัม แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมาแวะให้อาหารปลาอยู่เสมอ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต ตั้งอยู่บริเวณคลองหก ทางเข้าอยู่ติดกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดยแยกจากถนนสายรังสิต-นครนายกเข้าไป ๔ กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป ประกอบด้วยนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ธรรมชาติวิทยา ดาราศาสตร์ และอวกาศ มีกิจกรรมทดลองที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เปิดให้เข้าชมในวันอังคารถึงอาทิตย์ เวลา ๙.๓๐-๑๖.๐๐ น. หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เก็บค่าเข้าชม รายละเอียด โทร. ๐ ๒๕๗๗ ๕๔๕๖-๕๙
ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เป็นสถานีทดลองข้าวแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2459 ชื่อ นาทดลองคลองรังสิต สังกัดกรมเพาะปลูกโดยมี พระยาโภชนากร (ตริ มิลินทสูต) เป็นหัวหน้าสถานีทดลองข้าวคนแรก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีทดลองข้าวรังสิต สังกัดกรมการข้าวในปี พ.ศ.2496 และสังกัดกรมวิชาการเกษตรในปี พ.ศ.2515 ต่อมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ตามโครงการวิจัยแห่งชาติ สถานีทดลองข้าวรังสิตได้รับการยกฐานะเป็น "ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี" เมื่อปี พ.ศ.2526 ปัจจุบันศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สังกัดกรมการข้าว ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในปี 2549 สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โทร.0-2577-1688-9 โทรสาร.0-2577-1300
อำเภอคลองหลวง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหก ในบริเวณเทคโนธานี โดยแยกจากถนนสายรังสิต-นครนายก ไปประมาณ ๔ กิโลเมตร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย ปอ.๑๑๕๕ สายรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค-พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ตัวอาคารโดดเด่นด้วยการออกแบบเป็นรูปลูกเต๋า ภายในจัดแสดงนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินไปพร้อมกับการเรียนรู้ ชั้นแรก จัดแสดงภาพ และผลงานนักวิทยาศาสตร์ การจำลองลูกโลกขนาดใหญ่ ชั้นที่ ๒ จัดแสดงหุ่นจำลอง ลูซี่ ที่ทำจากฟอสซิล เป็นรูปเหมือนที่แสดงถึงการกำเนิดมนุษย์คนแรก ยานอวกาศ และมนุษย์อวกาศจำลอง ชั้นที่ ๓ เป็นอุโมงค์เงา และเรือนไม้ จัดแสดงในเรื่องของแสง ชั้นที่ ๔ จัดแสดงพื้นฐาน และเทคโนโลยีในประเทศไทยลักษณะทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา นิเวศวิทยา การผลิตด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ชั้นที่ ๕ คือแสดงการแยกแยะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และ ชั้นที่ ๖ แสดงถึงภูมิปัญญาไทย เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ระหว่างเวลา ๐๙.๓๐๑๗.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๖๐ บาท รายละเอียด โทร. ๐ ๒๕๗๗ ๙๙๙๙ หรือดูเว็บไซต์ http://www.nsm.or.th
หออัครศิลปิน
ตั้งอยู่ตำบลคลองห้า อยู่เลยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ไปอีกราว ๓ กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานด้านศิลปและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระองค์ ๙ ด้าน คือ ด้านหัตถกรรม ด้านกีฬา ด้านวรรณศิลป์ ด้านจิตรกรรม ด้านถ่ายภาพ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม ด้านดนตรี และด้านการพระราชนิพนธ์เพลง นอกจากนี้ ยังเป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันล้ำค่าของศิลปินแห่งชาติทุกท่านในรูปแบบนิทรรศการภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและถ่ายทอดผลงานและภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๔ สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันและเวลาราชการ โทร. ๐ ๒๙๘๖ ๕๐๒๐ ภายในบริเวณใกล้เคียงกับหออัครศิลปิน ยังมีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหนึ่ง ถนนพหลโยธิน กม. ๔๖-๔๘ ตรงข้ามนิคมอุตสาหกรรม นวนคร ประกอบด้วย กลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ ๙ อาคาร มีทางเดินเชื่อมต่อกัน จัดแสดงเรื่องราวทางการเกษตรผ่านเทคโนโลยีทันสมัย และหุ่นจำลอง ครอบคลุมเนื้อหางานการเกษตรทุกด้าน ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน ป่าไม้ ประมง ปศุสัตว์ ระบบนิเวศ ส่วนด้านนอกมีเรือนเพาะปลูก แปลงนาสาธิต และจำลองสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกภูมิภาคของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ประชุมสัมมนาด้านวิชาการเกษตร และยังเป็นแหล่งการศึกษาทางด้านโครงการพระราชดำริ เปิดทุกวัน เว้นวันจันทร์ เวลา ๙.๓๐๑๕.๓๐ น. ไม่เก็บค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๕๒๙ ๒๒๑๐-๔
ศูนญ์รวมความรู้ด้านโภชนาการอาหารนมเนสท์เล่ ตั้งอยู่ภายในโรงงานนมเนสท์เล่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จากแยกรังสิตไปตามถนนพหลโยธินทางไปสระบุรี ๗ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้านิคมอีก ๒ กิโลเมตร เป็นจุดเยี่ยมชมโรงงานผลิตภัณฑ์นมชนิดน้ำบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโรงงานเนสท์เล่ทั่วโลก โดยทำเป็นอุโมงค์แห่งการเรียนรู้กระบวนการผลิตนมจากฟาร์มจนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ ความรู้เกี่ยวกับนม การวิจัยค้นคว้าและความเป็นมาของบริษัท รวมทั้งชมเทคโนโลยีการผลิตนมชนิดน้ำบรรจุกระป๋องจากโรงงานจริง เปิดให้เข้าชมฟรี ในวันอังคาร-อาทิตย์ การเข้าชมแบ่งเป็นรอบ รอบละประมาณ ๑ ชั่วโมง การเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า โทร. ๐ ๒๖๕๗ ๘๖๕๗ กด ๔ หรือเว็บไซต์ http://www.nestlethai.com |